foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
Welcome to wild world nature

Login Form

การดำเนินงาน

alt

ระเบียบกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์ พ.ศ.2557

.........................................................

        โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบล   กันทรารมย์ เพื่อให้การดำเนินงาน การบริหารจัดการ และการใช้จ่ายงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพ  ในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบลกันทรารมย์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครอง      ส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ.๒๕๕7 และประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การจ่ายเงิน และการจัดทำบัญชีและรายงาน 

          คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลตำบลกันทรารมย์ จึงได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ให้ออกระเบียบกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลตำบลกันทรารมย์ พ.ศ.2557 ดังต่อไปนี้

        ข้อ ๑  ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์ พ.ศ.2557”

        ข้อ ๒  ระเบียบนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

        ข้อ ๓  ให้ยกเลิกระเบียบกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์ ลงวันที่     1 กุมภาพันธ์ 2554

        ข้อ ๔  ให้ประธานกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์ รักษาการ    ให้เป็นไปตามระเบียบนี้

        ข้อ ๕  สำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพตั้ง ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์ เลขที่ 24 หมู่ที่ 9 ตำบลกันทรารมย์ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์

     ข้อ ๖  ให้เงินในระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบลกันทรารมย์ เป็นเงินในกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์ และเป็นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

        ข้อ ๗  ในระเบียบนี้

        “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนตำบล ตามกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยเทศบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง ที่ได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่

“กองทุนหลักประกันสุขภาพ” หมายความว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุก    ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต

“คณะกรรมการกองทุน” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่

“การจัดบริการสาธารณสุข” หมายความว่า การจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุก ตามที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานกำหนด

“สถานบริการ” หมายความว่า สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ของเอกชน และของสภากาชาดไทย หน่วยบริการการประกอบโรคศิลปะสาขาต่างๆ และสถานบริการสาธารณสุขอื่นที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดเพิ่มเติม

“หน่วยบริการ” หมายความว่า สถานบริการที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕

        “หน่วยงานสาธารณสุข” หมายความว่า หน่วยงานที่มีภารกิจด้านการสาธารณสุขโดยตรง แต่มิได้เป็นสถานบริการหรือหน่วยบริการ เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ส่วนสาธารณสุข เป็นต้น

“หน่วยงานอื่น” หมายความว่า หน่วยงานที่มิได้มีภารกิจด้านการสาธารณสุขโดยตรง แต่อาจดำเนินกิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพหรือป้องกันโรคได้ในขอบเขตหนึ่ง เช่น โรงเรียน สถาบันการศึกษา วัด เป็นต้น

“กลุ่มหรือองค์กรประชาชน” หมายความว่า องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน หรือภาคเอกชน ที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรที่เรียกชื่ออื่นตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นการรวมตัวกันดำเนินกิจกรรมโดยมีวัตถุประสงค์ไม่แสวงหาผลกำไร ทั้งนี้ จะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ได้

หมวดที่ ๑

วัตถุประสงค์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพ

--------------------------------

        ข้อ ๘  เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ หรือสถานบริการ หรือหน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่น หรือสนับสนุนและส่งเสริมให้กลุ่มหรือองค์กรประชาชนดำเนินกิจกรรมด้านสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในพื้นที่ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและ            มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมตามความพร้อมความเหมาะสมและความต้องการของประชาชนในพื้นที่

หมวดที่ ๒

สมาชิกกองทุนหลักประกันสุขภาพ

--------------------------------

        ข้อ 9  สมาชิกกองทุนหลักประกันสุขภาพ  ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

              (๑) มีภูมิลำเนาและมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ในเขตตำบล     กันทรารมย์

              (๒) เป็นผู้พร้อมที่จะปฏิบัติตามระเบียบกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบล    กันทรารมย์

หมวดที่ ๓

คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพ

--------------------------------

        ข้อ ๑0  คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์ ประกอบด้วย

                (1) ผู้บริหารสูงสุดขององค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์                     เป็นประธานกรรมการ
                (2) ผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ จำนวน 2 คน                                                เป็นรองประธานกรรมการ 
                (3) สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์
                      ที่สภาฯมอบหมาย จำนวน 2 คน                                                          เป็นกรรมการ
               (4) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกันทรารมย์                   เป็นกรรมการ
               (5) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในพื้นที่
                    ที่คัดเลือกกันเอง จำนวน 2 คน                                                     เป็นกรรมการ
              (6) ผู้แทนหมู่บ้านหรือชุมชนที่ประชาชนในหมู่บ้าน
                   หรือชุมชนคัดเลือกกันเอง จำนวน 5  คน                                          เป็นกรรมการ
              (7) ผู้แทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน
                   หรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระในพื้นที่ จำนวน 1 คน (ถ้ามี)               เป็นกรรมการ
              (8) ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์หรือเจ้าหน้าที่อื่นที่ผู้บริหารสูงสุด
                   ขององค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์มอบหมาย                           เป็นกรรมการและเลขานุการ
              (9) หัวหน้าส่วนสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่ผู้บริหารสูงสุด
                    ขององค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์มอบหมาย                          เป็นกรรมการและ

                                                                                             ผู้ช่วยเลขานุการ

        ให้สาธารณสุขอำเภอกระสังและผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระสัง เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุน

        ข้อ ๑1  ให้คณะกรรมการกองทุนที่มาจากการคัดเลือก มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี

     เมื่อกรรมการในวรรคหนึ่งอยู่ในตำแหน่งครบวาระ 4 ปี แล้วยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้คณะกรรมการที่ครบวาระนั้น อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้ต้องไม่เกินหกสิบวัน

     ในกรณีที่กรรมการตามวรรคหนึ่ง พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้มีการดำเนินการคัดเลือกกรรมการประเภทเดียวกันแทน และให้ผู้ได้รับการคัดเลือกอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลือของกรรมการ     ซึ่งตนแทน

              ในกรณีที่ประธานกรรมการตามข้อ 10(1) มีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้ตามลำดับ แต่กรณีที่ประธานกรรมการตามข้อ 10(1) ไม่มีหรือพ้นจากตำแหน่ง ให้ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้บริหารสูงสุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานกรรมการแทน

        ข้อ ๑2  กรรมการที่มาจากการคัดเลือกตามข้อ 10 วรรคหนึ่ง (2)(4)(5)(6) และ (7) นอกจากการ    พ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว ให้พ้นจากตำแหน่งในกรณีต่อไปนี้

     (1) ตาย

     (2) ลาออก

     (3) ย้ายไปดำรงตำแหน่งหรือไปประกอบวิชาชีพหรืออาชีพในท้องถิ่นหรือพื้นที่อื่น

     (4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

     (5) เป็นบุคคลล้มละลาย

     (6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่โทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดย

ประมาท หรือความผิดลหุโทษ

        ข้อ 13  เมื่อคณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ หรือเหตุผลอื่นๆ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่งรายชื่อให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสำนักงานเขต ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่กรรมการหมดวาระ 

              ข้อ ๑4  คณะกรรมการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ  มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

              (1) พิจารณาอนุมัติแผนงาน หรือโครงการ หรือกิจกรรม ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

              กรณีกรรมการผู้ใดในคณะกรรมการกองทุน เป็นผู้เสนอและดำเนินการแผนงาน หรือโครงการ หรือกิจกรรม ให้กรรมการผู้นั้นมีสิทธิชี้แจงต่อที่ประชุม แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงอนุมัติแผนงาน หรือโครงการ หรือกิจกรรมนั้น

              (2) ออกระเบียบที่จำเป็นเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน และระเบียบว่าด้วยค่าตอบแทนของอนุกรรมการหรือคณะทำงานหรือผู้ดำเนินงาน ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดแย้งกับประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และไม่เกินกว่าอัตราหรือหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

              (3) ควบคุมและกำกับดูแลการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินและการจัดทำบัญชีเงินหรือทรัพย์สินในกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรม การหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

              (4) กำกับดูแลให้หน่วยงาน หรือกลุ่มหรือองค์กรผู้ที่ได้รับอนุมัติตามข้อ 16 ให้เป็นไปตามแผนงาน โครงการที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพกำหนด

              (5) สนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขทั้งที่บ้าน ในชุมชน หรือหน่วยบริการ ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

              (6) ให้คำแนะนำในการจัดทำข้อมูลและแผนดำเนินงานที่เกี่ยวกับปัญหาสาธารณสุข            ของกลุ่มเป้าหมาย หน่วยบริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

              (7) พิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดทำสรุปผลการดำเนินงาน รายงานการรับจ่ายและเงินคงเหลือของกองทุนหลักประกันสุขภาพ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ให้สำนักงานสาขาจังหวัด สำนักงานเขต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ภายในเดือนธันวาคมของทุกปี

              (8) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อดำเนินงานที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็น และให้อนุกรรมการหรือคณะทำงานที่ได้รับแต่งตั้ง ได้รับค่าตอบแทนการประชุมหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการดำเนินงาน ตามระเบียบของคณะกรรมการกองทุน

หมวดที่ ๔

รายได้หรือทรัพย์สินในกองทุนหลักประกันสุขภาพ

--------------------------------

        ข้อ 15  เงินหรือทรัพย์สินในกองทุนหลักประกันสุขภาพ ประกอบด้วย

      (1) เงินที่ได้รับจัดสรรแต่ละปีจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

  1. เงินสมทบจากเงินอุดหนุนหรืองบประมาณที่ได้รับจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  2. เงินสมทบจากชุมชนหรือกองทุนชุมชนอื่น
  3. รายได้อื่นๆหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาในกิจการของกองทุนหลักประกันสุขภาพ

หมวดที่ 5

การสนับสนุนงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพ

--------------------------------

        ข้อ 16 เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ ให้ใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนหรือส่งเสริมเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการ หรือกิจกรรมที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ ดังนี้

              (1) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ หรือสถานบริการ หรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ โดยเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุก ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต เพื่อให้กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในพื้นที่ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

              (2) เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มหรือองค์กรประชาชน หรือหน่วยงานอื่นในพื้นที่ ได้ดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการ หรือกิจกรรมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค ให้แก่สมาชิกหรือประชาชน    ในพื้นที่ และกรณีมีความจำเป็นต้องจัดซื้อวัสดุที่มีลักษณะเป็นครุภัณฑ์ ให้สนับสนุนได้ในวงเงินไม่เกิน     5,000 บาทต่อโครงการ วัสดุที่มีลักษณะเป็นครุภัณฑ์ที่จัดหาได้ ให้อยู่ในความดูแลและบำรุงรักษาของกลุ่มหรือองค์กรประชาชนหรือหน่วยงานอื่น ที่ได้รับการสนับสนุนนั้นๆ

              (3) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพและการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุก ของศูนย์เด็กเล็กหรือศูนย์ชื่ออื่นที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาและดูแลเด็กเล็กในชุมชน หรือศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการ หรือศูนย์ชื่ออื่นที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการในชุมชน           ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด เป็นเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของเงินรายรับของกองทุนหลักประกันสุขภาพในแต่ละปีงบประมาณนั้น

              (4) เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารหรือพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินรายรับของกองทุนหลักประกันสุขภาพในแต่ละปีงบประมาณนั้น และ      ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจ่ายเพื่อซื้อครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ครุภัณฑ์นั้นจะต้องมีราคาไม่เกิน     20,000 บาทต่อหน่วย โดยการจัดซื้อจัดจ้างให้ใช้ระเบียบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยอนุโลม       และครุภัณฑ์ที่จัดหาได้ให้อยู่ในความดูแลและบำรุงรักษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

              (5) กรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ ให้คณะกรรมการกองทุนพิจารณาอนุมัติ           จ่ายเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้ตามความจำเป็น เหมาะสม ทันต่อสถานการณ์ได้

หมวดที่ 6

การรับเงินและการเก็บรักษาเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ

--------------------------------

        ข้อ 17  บรรดาเงินรายรับในกองทุนหลักประกันสุขภาพ ให้นำส่งเข้าบัญชีกองทุนหลักประกันสุขภาพ หรือบัญชีระบบหลักประกันสุขภาพที่เปิดบัญชีโดยแยกเป็นบัญชีเฉพาะกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประเภทบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “ระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์”

        ข้อ 18  การรับเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพให้รับเป็น เงินสด เช็ค ตั๋วแลกเงิน หรือธนาณัติก็ได้ และให้ออกใบเสร็จรับเงินในนามของกองทุนหลักประกันสุขภาพตามแบบที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพกำหนดให้แก่ผู้ชำระเงินทุกครั้ง เว้นแต่การรับเงินที่ได้รับการจัดสรรแต่ละปีจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด โดยให้ใช้หลักฐานการโอนเงินผ่านทางธนาคารเป็นหลักฐานอ้างอิงในการบันทึกบัญชีรายรับ

        ข้อ 19  เงินสดที่กองทุนหลักประกันสุขภาพได้รับไว้ ให้นำฝากเข้าบัญชีตามข้อ 17 ภายในวันที่ได้รับเงิน หากไม่สามารถนำเงินดังกล่าวฝากเข้าบัญชีได้ทัน ให้พนักงานส่วนท้องถิ่นที่ผู้บริหารสูงสุดมอบหมาย      นำเงินสดจำนวนดังกล่าวเก็บรวบรวมไว้ในซองหรือหีบห่อ ระบุเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ จำนวนเงิน    ปิดผนึก ลงลายมือชื่อผู้รับผิดชอบ และนำฝากไว้ที่ตู้นิรภัยหรือสถานที่เก็บรักษาเงินขององค์กรปกครอง      ส่วนท้องถิ่น แล้วนำฝากเข้าบัญชีในวันทำการถัดไป

        ข้อ 20  การสมทบเงินจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ดำเนินการโดยเร็วเมื่อเริ่มต้นปีงบประมาณ กรณีมีความจำเป็นให้สมทบได้ไม่เกินปีงบประมาณที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายเงินสนับสนุน

หมวดที่ 7

การจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ

--------------------------------

        ข้อ 21  ให้ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสั่งจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ      ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ทั้งนี้ภายใต้แผนงานหรือโครงการหรือกิจกรรมที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ

        ข้อ 22  วิธีการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ ให้จ่ายได้ ดังนี้

  1. จ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมหรือตั๋วแลกเงินหรือธนาณัติ
  2. จ่ายทางธนาคารหรือทางอื่นตามที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
  3. กรณีที่มีความจำเป็นต้องจ่ายเป็นเงินสด ให้จ่ายได้ไม่เกิน 5,000 บาท (-ห้าพันบาทถ้วน-)

              โดยให้พนักงานส่วนท้องถิ่นที่ผู้บริหารสูงสุดมอบหมายเป็นผู้ทำการเบิกจ่าย หรือออกเช็ค สั่งจ่ายในนามของพนักงานส่วนท้องถิ่นที่ได้รับมอบหมาย โดยขีดฆ่าคำว่า “หรือตามคำสั่ง”“หรือผู้ถือ”ออก และจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินในวันเดียวกัน หรือภายในวันทำการถัดไป

        ข้อ 23  ให้ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คนใดคนหนึ่งลงนามร่วมกับพนักงานส่วนท้องถิ่น คนใดคนหนึ่งที่ผู้บริหารสูงสุดมอบหมายไว้ จำนวน 2 คน รวมเป็นผู้ลงนาม 2 คน เป็นผู้เบิกเงินจากบัญชีกองทุนหลักประกันสุขภาพตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุน

        ข้อ 24  การจ่ายให้ผู้มีสิทธิรับเงินที่เป็นหน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่น ให้หัวหน้าของหน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่นนั้นเป็น     ผู้รับเงิน หากไม่สามารถมารับเงินได้ด้วยตนเอง จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นเป็นผู้รับเงินแทนก็ให้กระทำได้ ทั้งนี้ ต้องมีหนังสือมอบอำนาจที่จัดเจน

        ข้อ 25 การจ่ายให้ผู้มีสิทธิรับเงินที่เป็นกลุ่มหรือองค์กรประชาชน ให้ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่มหรือองค์กรประชาชน ไม่น้อยกว่า 2 คนขึ้นไปเป็นผู้รับเงิน

        ข้อ 26  การจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ ต้องมีหลักฐานการจ่ายเป็นใบเสร็จรับเงิน ใบสำคัญ   รับเงิน ตามแบบที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด หรือหลักฐานการนำเงินเข้าบัญชีเงินฝาก      ที่ธนาคารของผู้มีสิทธิรับเงินหรือหลักฐานการรับเงินอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด เพื่อเก็บไว้   ให้ตรวจสอบ

หมวดที่ 8

การจัดทำบัญชีและรายงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพ

--------------------------------

        ข้อ ๒7  การบันทึกบัญชี ให้บันทึกตามระบบบัญชีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ให้แยกระบบบัญชีกองทุนหลักประกันสุขภาพออกจากระบบบัญชีปกติเป็นอีกชุดหนึ่งต่างหาก

        ข้อ 28  รอบระยะบัญชี ให้ถือตามปีงบประมาณและการเริ่มระบบบัญชีให้เริ่ม ณ วันที่ได้รับเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือได้รับเงินจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

        ข้อ 29  ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำสรุปผลการดำเนินงาน รายงานการรับจ่าย และเงินคงเหลือประจำเดือน ด้วยระบบอิเลคโทรนิคสารสนเทศ หรือระบบอื่น และจัดส่งสรุปผลการดำเนินงาน รายงานการรับจ่ายและเงินคงเหลือของกองทุนหลักประกันสุขภาพที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนแล้ว ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาเขต ทุกไตรมาส โดยให้จัดส่งภายใน 30 วัน       นับจากวันสิ้นไตรมาส ตามรูปแบบที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

หมวดที่ 9

การกำกับดูแลหน่วยงาน กลุ่ม หรือองค์กรที่ได้รับเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ

--------------------------------

ข้อ 30  กรณีหน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นของรัฐได้รับเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ ให้เก็บรักษาและใช้จ่ายเงินได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ดังนี้

     (1) ถ้าเงินจำนวนตามแผนงาน โครงการหรือกิจกรรมที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ เป็นเงินเกินกว่า 10,000 บาท (-หนึ่งหมื่นบาทถ้วน-) ให้เปิดบัญชีเงินฝากเป็นการเฉพาะแยกออกจากบัญชีทั่วไป หรือใช้บัญชีทั่วไปของหน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ในนามหน่วยงานนั้นๆ

              (2) ให้หัวหน้าหน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้อนุมัติเบิกจ่ายเงินในบัญชีตามรายการค่าใช้จ่ายและอัตราที่กำหนดไว้ในแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม      ที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุน ทั้งนี้ ต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กำหนดตามข้อ 32

              (3) กรณีที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง ตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ที่มีวงเงินเกิน 100,000 บาท (-หนึ่งแสนบาทถ้วน-) ให้กระทำโดยวิธีการตกลงราคาโดยอนุโลม โดยถือราคากลางของทางราชการ    เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นให้ใช้ราคาตลาดโดยทั่วไปในขณะที่จัดซื้อจัดจ้าง

              (4) กรณีที่มีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินเกิน 100,000 บาท (-หนึ่งแสนบาทถ้วน-) ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของหน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยอนุโลม

              (5) หน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เก็บหลักฐาน   การจ่ายเงินจากบัญชีไว้ เพื่อการตรวจสอบ

              (6) เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ ให้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่ได้รับอนุมัติ ส่งให้กองทุนหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนรับทราบ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บไว้เพื่อการตรวจสอบ

              กรณีที่มีเงินเหลือจากการดำเนินงาน ให้นำเงินส่งคืนกองทุนหลักประกันสุขภาพ

        ข้อ 31  กรณีกลุ่มหรือองค์กรประชาชน ได้รับเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ ให้ใช้จ่ายเงินตามรายการค่าใช้จ่ายและอัตราที่กำหนดไว้ในแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุน แต่สำหรับรายการค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้ให้อยู่ภายใต้กรอบอัตราและเงื่อนไขการดำเนินการ ดังนี้

              (1) ค่าตอบแทนคณะทำงานหรือบุคคลภายนอก ที่ดำเนินงานตามแผนงาน โครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุน ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราที่กำหนดในข้อ 32

              (2) ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น เบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ให้เบิกจ่ายในอัตราตามระเบียบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยอนุโลม และบุคคลที่ได้รับค่าตอบแทนตาม(1) ไม่มีสิทธิได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงตาม(2)

              (3) การจัดซื้อจัดจ้างตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ให้ถือราคากลางตามระเบียบของทางราชการหรือราคาตลาดโดยทั่วไปในขณะที่จัดซื้อจัดจ้าง

              (4) เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ ให้จัดทำรายงานผลการดำเนินงาน และรายงานการจ่ายเงิน          ตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่ได้รับอนุมัติ ส่งให้กองทุนหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนรับทราบและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บไว้เพื่อการตรวจสอบ

              กรณีแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ที่มีการจัดหาวัสดุที่มีลักษณะคล้ายครุภัณฑ์ ที่มีวงเงินไม่เกิน 5,000 บาท (-ห้าพันบาทถ้วน-) ให้แนบเอกสารใบเสร็จรับเงินหรือใบสำคัญรับเงินไว้กับรายงานการจ่ายเงินดังกล่าวด้วย

              กรณีที่มีเงินเหลือจากการดำเนินงาน ให้นำเงินที่เหลือส่งคืนกองทุนหลักประกันสุขภาพ

หมวดที่ 10

การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน หรือผู้ดำเนินงาน

--------------------------------

ข้อ 32  อัตราค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าตอบแทนของกรรมการ อนุกรรมการและคณะทำงาน

     (1) ค่าตอบแทนในการประชุมสำหรับกรรมการหรือที่ปรึกษา ไม่เกินครั้งละ 400 บาทต่อคน เดือนหนึ่งไม่เกิน 800 บาท ค่าตอบแทนในการประชุมสำหรับอนุกรรมการ ไม่เกินครั้งละ 300 บาทต่อคน เดือนหนึ่งไม่เกิน 600 บาท และสำหรับคณะทำงาน ครั้งละไม่เกิน 200 บาทต่อคน เดือนหนึ่งไม่เกิน      400 บาท

     (2) ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าเลี้ยงรับรองคณะบุคคล ค่าเลี้ยงรับรองในการประชุม และค่าพาหนะเดินทาง สำหรับกรรมการ ที่ปรึกษา อนุกรรมการหรือคณะทำงาน และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ รวมทั้งพนักงานจ้างเหมา(ชั่วคราว) ของกองทุน ให้เบิกจ่ายได้ในอัตราไม่เกินระเบียบของทางราชการโดยอนุโลม

     (3) วงเงินค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนตาม(1) และ(2) เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อการบริหาร   หรือพัฒนางานของกองทุนหลักประกันสุขภาพ ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของรายรับของกองทุนหลักประกันสุขภาพในปีงบประมาณนั้น

ข้อ 33  อัตราค่าตอบแทนผู้ดำเนินงานตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ที่ได้รับอนุมัติ           จากคณะกรรมการกองทุน

     (1) ค่าตอบแทนสำหรับประชาชนหรือบุคคลที่ปฏิบัติงานตามแผนงาน โครงการหรือกิจกรรม หากเป็นการปฏิบัติงานที่มีความจำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ให้จ่ายได้ไม่เกินกว่าที่กำหนดในแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุน

ข้อ 34  การดำเนินงานใดตามระเบียบนี้ หากยังไม่มีกฎ ระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์             ที่จะกำหนดขึ้นตามระเบียบนี้ ให้ใช้กฎ ระเบียบ ประกาศหรือหลักเกณฑ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้  โดยอนุโลม

ข้อ 35  ระเบียบให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่      เดือน ตุลาคม  พ.ศ.2557

 

 

                                                           ลงชื่อ  

( นายพิชิต   เยรัมย์ )

                             ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ

                            ในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลกันทรารมย์

เวปไซต์สำหรับเจ้าหน้าที่

จำนวนผู้เข้าเว็บ

มี 99 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

Copyright © 2024 Copyright Wild Nature Rights Reserved.